กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.กริช วรทัต ผกก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.จำนาญ จันทร์เทศ รอง ผกก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.รัฐพร คงสุโข รอง ผกก.4 บก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.เชาวน์วุฒิ เลียบมา สว.กก.4 บก.ปอศ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปอศ.
ร่วมกันจับกุม นางสาวอำพรฯ อายุ 50 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 236/2567 ลง 17 มกราคม 2567 ฐานความผิด ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสบคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน
สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้าน ม.3 ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือน มิ.ย.66 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ตรวจสอบพบเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม โดยมีการเลียนแบบเว็บไซต์ แอบอ้างชื่อและใช้ตราสัญญาลักษณ์ของ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รวมทั้งหน่วยงานอื่นในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อีกทั้งยังพบว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้ใช้วิธียิงแอดโฆษณาผ่านเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล (Google Ads) ซึ่งเมื่อมีประชาชนค้นหาคำว่า “แจ้งความออนไลน์” จะหลอกลวงให้ผู้เสียหาย ทำการเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์และสวมรอยเป็นแอดมิน และอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่าย IT (information technology) จากนั้นจะแจ้งกับผู้เสียหายที่ปรึกษาคดีว่าเงินที่ผู้เสียหายถูกโกงไป ได้ถูกนำไปฟอกเงินในแพลตฟอร์มการพนันออนไลน์ต่างประเทศ (เว็บพนัน) จากนั้นจะแจ้งกับผู้เสียหายว่าสามารถกู้คืนเงินมาคืนผู้เสียหายได้ โดยจะหลอกล่อให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าเว็บพนันดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็จะหลอกล่อให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปเพิ่ม เพื่อที่จะกู้คืนเงินให้ได้มากกว่าเดิม แต่ท้ายที่สุดเมื่อผู้เสียหายจะถอนเงินออกมา จะไม่สามารถถอนเงินคืนออกมาได้ โดยจากการสืบสวนพบว่าภายในระยะเวลา 15 วัน มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้กลุ่มคนร้ายมากกว่า 1,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14-15 พ.ย.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้มีการบูรณาการกำลังร่วมกันตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหา รวม 8 จุด ในพื้นที่ กทม., นนทบุรี, สมุทรสาคร, เชียงราย และสุราษฎร์ธานี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย และตรวจยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท โดยนางสาวอำพรฯ ผู้ถูกจับกุมรายนี้ ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำไปใช้เป็นบัญชีม้าในการรับเงิน และยักย้ายถ่ายเทเงินของผู้เสียหายออกไป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในกระบวนการฟอกเงินของคนร้าย ซึ่งได้หลบหนีการจับกุมเรื่อยมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. ได้สืบสวนขยายผลติดตามจับกุมตัว นางสาวอำพรฯ ทราบว่าได้มากบดานอยู่ที่ ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จึงได้นำกำลังจับกุมผู้ต้องหารายนี้ นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่าได้รับการติดต่อจาก
นางสาวหมวยฯ ซึ่งเป็นคนรู้จักละแวกบ้าน มาติดต่อให้เปิดบัญชีธนาคาร โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน จำนวน 300 บาท ผู้ต้องหาจึงได้ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารให้กับนางสาวหมวยฯ โดยไม่ทราบว่านำบัญชีธนาคารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ นครบาล รายงาน