Friday, 20 September 2024

เปิดพิกัดจังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

วันที่ 10 ก.ย. 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 10 -19 ก.ย. 2567 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย

ช่วงวันที่ 10-12 ก.ย. 2567 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือลมฝนที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลงบ้าง ฝนยังตกต่อเนื่อง เกิดขึ้นได้ตามบริเวณที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน (ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน) ภาคอีสานตอนบน (บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี)

ส่วนด้านรับมรสุม (บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต จันทบุรี และตราด) ยังมีฝนกระจาย โดยมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว ยังต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบริเวณภาคเหนือ ใช้รถใช้ถนนระยะนี้ต้องระวังฝนตกถนนลื่นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ส่วนทะเลยังมีคลื่นลมค่อนข้างแรง ชาวเรือ ชาวประมงเดินเรือด้วยความระวัง รายละเอียดต้องติดตามข่าวพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ช่วงวันที่ 13-19 ก.ย. 2567 สถานการณ์และแนวโน้มของฝนบริเวณประเทศไทยจะมีการกระจายเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสาน และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคอีสาน มรสุมมีกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น ภาคอีสาน ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีฝนเพิ่มขึ้น ต้องกลับมาเฝ้าระวังฝนตกหนักอีกช่วง

(ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)