วันที่ 2 พ.ย. 2567 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 2 – 6 พ.ย. 67 แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม
ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย)
ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อ.เมืองฯ อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พนม อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.เคียนซา อ.พระแสง อ.ดอนสัก อ.เกาะสมุย) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ขนอม อ.ทุ่งสง อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา
อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร) พัทลุง (อ.เมืองฯ อ.ควนขนุน) สงขลา (อ.เมืองฯ อ.กระแสสินธุ์ อ.ระโนด อ.นาทวี อ.สิงหนคร อ.หาดใหญ่ อ.รัตภูมิ) ระนอง (อ.เมืองฯ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ) พังงา (อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมืองฯ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม) และตรัง (อ.เมืองฯ อ.ย่านตาขาว อ.ห้วยยอด อ.นาโยง อ.วังวิเศษ)
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่าง และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 11 จังหวัดในภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่มได้
โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ ปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด